เรื่องของกระจกรถ (ยานยนต์)

รายละเอียด

กระจกรถนั้นจะเป็นกระจกนิรภัยทั้งคัน ซึ่งคำว่า “กระจกนิรภัย” นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่แตกหรือไม่บาด ก็ยังคงแตกและมีเหลี่ยมคมให้บาดได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าแตกยากหน่อย และไม่บาดมากหรือก่อให้เกิดอันตรายสูงแบบกระจกธรรมดาเท่านั้นเอง

กระจกบังลมหน้าแบบนิรภัยนั้นที่ใช้ชื่อว่าเป็นกระจกนิรภัยเพราะเวลาแตกแล้วจะไม่เป็นชิ้นส่วนคม ไปทำอันตรายต่อผู้โดยสารซักเท่าไหร่นัก ยกเว้นจะเอาหัวไปกระแทก หรือเอาหน้าไปซบ อันนี้ก็อาจจะมีบ้างเหมือนกัน เพราะคมกระจกจะเป็นคมแบบ 90 องศา หรือเหลี่ยมคม แต่เทียบแล้วก็ยังดีกว่ากระจกธรรมดาเยอะ ด้วยเหตุนี้เวลาขับหรือนั่งรถ จึงควรคาดเข็มขัดนิรภัยเอาไว้ตลอดเวลามีอุบัติเหตุตัวจะได้ไม่หลุดจากเบาะแล้วพุ่งไปเจอกับกระจก

ประเภทของกระจก

สำหรับกระจกบังลมหน้านิรภัย ตอนนี้เท่าที่นิยมจะมีใช้อยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ อย่างแรกเป็นแบบ Tempered ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร แต่สำหรับรถบางรุ่นบางยี่ห้อที่ต้องการลดเสียงลมปะทะและเสียงก้อง ก็จะใช้กระจกแผ่นหนากว่านี้อีกเล็กน้อย ซึ่งกระจกแบบ Tempered นี้ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 อย่างด้วยกัน คือ

1. Zone Tempered หรือ บางทีก็เรียกกันว่า Temper Zone ถูกออกแบบมาให้เวลาแตกแล้วจะร้าวไปทั่วทั้งแผ่น โดยส่วนที่แตกจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ มีความคมน้อย เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร บริเวณส่วนกลางกระจกจะแตกเป็นชิ้นใหญ่หน่อย สำหรับเอาไว้ให้พอมองเห็นทางตอนกระจกแตกได้บ้าง ไม่ใช่เกิดลายขึ้นทั้งแผ่นแล้วมองไม่เห็นทาง จึงนิยมใช้กระจกประเภทนี้ทำเป็นกระจกบังลมหน้า หากใครเคยเห็นเศษกระจกที่เค้าเลาะทิ้งไว้ข้างทาง มักจะเป็นกระจกแบบ Tempered นี่เองแหละ เพราะเวลามันแตกแล้วรอยแตกจะกระจายลามไปทั่วทั้งแผ่น ทำให้มองเส้นทางไม่ชัดต้องเลาะเอาออกทิ้งไปแล้วขับรถไปเปลี่ยนกระจกเอาข้างหน้า ซึ่งระหว่างวิ่งหากขึ้นกระจกข้างทั้งหมด ก็สามารถลดกระแสลมปะทะให้น้อยลงได้

2. Full Tempered มาในลักษณะเดียวกันกับพวก Zone Tempered คือ เวลากระจกแตกจะลามไปทั่วทั้งแผ่น เพียงแต่จะแตกเป็นเม็ดเล็ก ๆ ที่เค้าเรียกกันว่า “เม็ดข้าวโพด” ทั่วทั้งบาน ไม่ได้เล็กบ้างใหญ่บ้างแบบพวก Zone Tempered และถึงแม้จะเห็นว่าเศษกระจกที่แตกเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่แหลมคม แต่ความเป็นจริงก็ยังคมเอาเรื่องเหมือนกัน จึงควรระมัดระวังเอาไว้ด้วย

ส่วนอีกแบบนั้นซึ่งช่วงหลัง บริษัทรถหันมานิยมใช้กันมากขึ้นเรียกว่าแบบ Laminated โดยทั่วไปจะหนาประมาณ 6 มิลลิเมตร เทียบแล้วจะหนากว่าพวกกระจกแบบ Tempered เล็กน้อย การผลิตจะวุ่นวายกว่า จากการรีดกระจกเป็นแผ่นบาง ๆ สองแผ่นประกบกัน แล้วมีแผ่นพลาสติกหรือแผ่นไวนิลสอดไส้ใส่อยู่ภายในระหว่างกระจกทั้งสองแผ่น ดังนั้นเมื่อกระจกเกิดการแตก ก็มักจะเป็นเพียงแค่รอยแตกร้าวเท่านั้น แต่จะไม่แยกตัวออกจากกัน เนื่องจากมีแผ่นฟิล์มยืดเกาะอยู่ตรงกลาง ไม่แตกหลุดเป็นเศษเสี้ยวแหลมคม จึงสามารถช่วยให้ปลอดภัยได้มากขึ้นยามรถเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับการที่เราจะทราบว่ากระจกบังลมหน้า หรือกระจกด้านข้างนั้นเป็นกระจกประเภทใด เราสามารถดูได้จากอักษรและสัญลักษณ์ที่พิมพ์ไว้บนกระจก หรือสังเกตหลังจากการล้างรถใหม่ ๆ ถ้ากระจกหน้าเป็นแบบ Tempered เมื่อมองมุมเฉียง จะเห็นมีลายเป็นเส้นตั้งสีรุ้งที่ส่วนกลางของกระจกบังลมหน้า

กระจกบังลมหน้านิรภัยแบบ Tempered ไม่ทน และแตกง่ายจริงหรือเปล่า

อันที่จริงกระจกหน้ารถที่เป็นกระจกนิรภัยแบบ Tempered นับว่ามีความแข็งแกร่งและทนทานต่อการกระทบ และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้มากเหมือนกัน แม้จะเป็นของพวกกระจกนิรภัย Laminated แบบ 2 ชั้นก็ตาม เพราะเพียงถูกกระทบทำให้เกิดรอยแตกขึ้นเพียงจุดเล็ก ๆ จุดเดียว ก็สามารถแตกลามไปทั้งแผ่นได้ ต่างกับพวกกระจกแบบ Laminated ที่ลอยแตกถึงจะลุกลามได้แต่ก็ช้า และรอยแตกจะเป็นเส้นไม่แตกทั้งแผ่น เมื่อเกิดการแตกแล้วยังสามารถขับต่อไปได้

สำหรับจุดอ่อนของพวกกระจกนิรภัยแบบ Laminated นั้นจะอยู่ที่การเสื่อมสภาพ โดยเป็นรอยฝ้าในเนื้อกระจก ซึ่งลุกลามมาจากทางขอบกระจก ที่เค้าเรียกกันว่า "ลมเข้า" ทำให้ทัศนวิสัยการมองแคบลง และต้องเปลี่ยนกระจกแผ่นใหม่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่แตก แต่สำหรับกระจกนิรภัยแบบ Laminated รุ่นใหม่ ๆ จะมีการผลิตที่ดีขึ้น อาการ "ลมเข้า" มีให้พบเห็นน้อยลง

ถึงแม้เราจะรู้สึกว่ากระจกหน้าแบบ Tempered จะแตกเก่งท่าทางดูบอบบาง เจอก้อนหินเข้าไป อาจทำให้ก้อนหินทะลุกระจกเข้ามาโดนคนนั่งคอหักหรือตาทะลักได้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเทียบกับพวกกระจกธรรมดาแล้ว พวกกระจกแบบ Tempered ก็ยังแข็งแรงกว่าเยอะ ซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ

1. ทนทานต่อแรงบิด (Bending Strength) ได้มากกว่าอย่างพวกกระจกธรรมดานั้นทนแรงบิดได้ประมาณ 500 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร เท่านั้น ในขณะที่กระจกนิรภัยแบบ Tempered นี้จะสามารถทนกับแรงบิดได้ถึง 1,500 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร หรือมากกว่ากัน 3 เท่าตัวเลยทีเดียว

2. ทนต่อแรงกระแทก (Impact Strength) เหนือกว่าจากการทดสอบค่าความแข็งของกระจก โดยการปล่อยลูกเหล็กกลมให้ตกลงบนกระจกขนาด 300 x 300 ตารางมิลลิเมตร กระจกธรรมดาจะรับได้เพียงแค่ปล่อยลูกเหล็กกลมจากความสูง 1 เมตรเท่านั้นก็แตกกระจายแล้ว ส่วนกระจกนิรภัย Tempered หนา 4 มิลลิเมตร สามารถรับมือกับลูกเหล็กที่ตกใส่ในระยะ 2 เมตรได้โดยไม่แตก หรือหากเป็นกระจกหนา 5 มิลลิเมตร จะรับมือได้จากความสูง 2.50 เมตร โดยที่กระจกยังอยู่ดีไม่แตก

3. ทนความร้อน (Thermal Resistance) ทั้งกระจกแบบธรรมดาและกระจกนิรภัย Tempered สามารถทนต่ออุณหภูมิระดับ 170 องศาเซลเซียส โดยไม่แตกได้อย่างสบาย

กระจกแตก เพราะจอดรถตากแดดร้อนๆ แล้วเจอความเย็น

มีผู้คนอยู่จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า กระจกแตกเพราะจอดรถตากแดดร้อนๆ แล้วมาเจอฝนตก หรือจอดตากกลางแดดแล้วเปิดแอร์เย็น ๆ

ความเป็นจริงนั้นในด้านการทนความร้อนของกระจกนิรภัย Tempered จัดว่าสูง จากการสมมติเหตุการณ์ว่ารถจอดตากแดดอยู่แล้วมีฝนตกลงมา โดยการใช้วิธีเอากระจกไปผ่านเตาอบจนร้อนประมาณ 180 องศาเซลเซียส แล้วเอาน้ำฉีดลงบนกระจกทันที กระจกก็ยังอยู่ในสภาพปกติ ซึ่งการจอดรถตากแดดนั้น อุณหภูมิที่กระจกย่อมร้อนไม่ถึง 180 องศาเซลเซียสแน่นอน ดังนั้นหากใครมาบอกว่าจอดรถตากแดดแล้ว โดนฝนทำให้กระจกแตก ก็คงเชื่อได้ยากหน่อยแล้วล่ะ

ดังนั้นใครที่บอกว่าหากจอดรถตากแดดเอาไว้จนร้อน พอสตาร์ทเครื่องเปิดแอร์ให้เย็นจะทำให้กระจกแตก ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อเหมือนกัน และสำหรับสาเหตุที่กระจกเกิดแตกขึ้นมา หลังจากจอดรถตากแดดแล้วเปิดแอร์นั้นก็เป็นไปได้ลำบากเช่นเดียวกัน ยกเว้นแดดนั้นจะร้อนจัดจนกระทั่งทำให้กระจกมีอุณหภูมิเกินเลยกว่า 180 องศาเซลเซียส แบบนี้พอจะคุยกันได้หน่อย

หากจอดรถอยู่กลางแดดจนรถร้อน พอขึ้นรถแล้วเร่งเปิดแอร์เย็นจัด ทำให้กระจกหดตัวและเกิดการแตกได้ ก็น่าจะไปเปิดร้านขายกระจกหน้าแถวประเทศที่มีอากาศร้อนจัด หรือตามประเทศที่มีทะเลทราย เพราะพวกนี้ล้วนแต่ขับรถเปิดแอร์ทั้งนั้น

สาเหตุที่กระจกบังลมหน้าเกิดการแตกขึ้นมา หลังจากจอดรถตากแดดทิ้งเอาไว้แล้วเปิดแอร์นั้น เป็นไปได้ว่ากระจกอาจเก่าจนกระทั่งหมดอายุ หรือกระจกเคยถูกกระทบกระแทกมาหลายครั้งจนกระทั่งเกิดความเครียด แม้จะไม่แตกในตอนนั้นก็กลายเป็นจุดอ่อนวันดีคืนดีมันก็แตกระเบิดออกมาเองโดยไร้สาเหตุ บางคนก็เลยบอกว่าเป็นเพราะวิ่งตากแดดร้อน ๆ แล้วเปิดแอร์เย็นจัดจนเกินไปกระจกเลยแตก เนื่องจากอุณหภูมิภายนอกแตกต่างกับอุณหภูมิภายในมาก...ว่าเข้าไปนู่นเลยเชียว

ส่วนรถบางคันที่เพิ่งเปลี่ยนกระจกบังลมหน้าไปได้ไม่เท่าไหร่นัก ปรากฏว่ามีรายการกระจกแตกอีกแล้ว แบบนี้ถ้าไม่เป็นเพราะคุณภาพกระจกไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากเจ้าของรถนิยมของราคาถูก หรือตอนเคลมประกันทางบริษัทเค้าเอาของถูก ๆ ให้ใช้ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าการติดตั้งนั้นมีปัญหา ทำให้เกิดแรงกดที่บริเวณขอบกระจกจุดใดจุดหนึ่ง หรือเคยพบว่าช่างใส่กระจกไม่รอบคอบพอ ทำให้มีเศษกระจกเก่าติดอยู่เอาออกไปไม่หมด เศษกระจกที่ตกค้างจึงไปกดกับขอบกระจกบานใหม่ที่นำมาเปลี่ยน เมื่อรถมีการกระแทกนานเข้ากระจกก็เลยแตกออกมา

อย่างไรก็ตามบางคนแม้จะรู้ที่มาที่ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สู้จะมั่นใจเท่าไหร่นัก ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความสบายใจให้มากขึ้น เราสามารถมีวิธีป้องกันได้หลายอย่าง เช่น ตอนที่จอดรถควรเปิดกระจกข้างแง้มเอาไว้ซักเล็กน้อย เพื่อปล่อยให้อากาศร้อนในรถได้ระบายออกมาซะบ้าง และหากเกิดกลัวพวกหัวขโมยถือโอกาส หรือเกรงว่าเกิดฝนตกขึ้นมาจะทำให้น้ำเข้าไปในห้องโดยสารหากมีการแง้มกระจกไว้ แบบนี้ก็ต้องหันมาพึ่งพาพวกผ้าคลุกรถแทน หรือเกิดขี้เกียจกางและเก็บผ้าคลุมรถกันทุกวัน ก่อนสตาร์ทติดเครื่องยนต์ให้ใช้วิธีเลื่อนกระจกข้างรถทั้งหมดลงมาซักพักหนึ่งก่อน และขณะที่รถเริ่มขยับตัวในตอนแรกก็อย่าเพิ่งเลื่อนกระจกขึ้น ให้ความร้อนในรถได้ระบายออกไปก่อนครู่หนึ่ง

เรื่องการป้องกันไม่ให้กระจกรถแตกอีกอย่างหนึ่งที่ควรใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่ได้เสียหายเพียงแค่กระจกแตกเท่านั้น แต่หมายถึงทรัพย์สินที่อยู่ในรถ และอาจหมายถึงรถหายเหลือแต่กุญแจรถไว้ดูต่างหน้า คือพวกทุบกระจกรถเพื่อขโมยของในรถ ดังนั้นหากเป็นไปได้จึงควรหาที่จอดรถ ซึ่งท่าทางปลอดภัยใกล้หูใกล้ตาเรา หรือชาวบ้าน และถ้าที่จอดรถค่อนข้างเสี่ยง ก็ลงทุนติดฟิล์มที่กันทุบกระจกได้ คือ ทุบแล้วกระจกแตก แต่ไม่หลุดออกมา ไม่ใช่ติดฟิล์มแล้วคนไม่ทุบกระจก...

ขอบคุณข้อมูลจาก : car.kapook.com

คุณอาจจะชอบ

  • ง่าย ๆ กับวิธีกำจัดฝ้ากระจกรถ
  • ฟิล์มกรองแสง